โคคลาน ๒

Bauhinia ornata Kurz var. kerrii (Gagnep.) K. Larsen et S. S. Larsen

ชื่ออื่น ๆ
กวาวขน, ปอมุ้ง, เลี้ยว, เลี้ยวเครือ (เหนือ); แสลงพันแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือจับ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งย่อย ดอกสีขาวหรือสีนวลผลแบบผลแห้งแตกลองแนว เปลือกหนา แข็งเหมือนไม้ เมล็ดรูปกลมแบน สีน้ำตาลเข้ม

โคคลานชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่มีมือจับ เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๔๐ ซม. เปลือกสีเทาค่อนข้างบาง มีเส้นใยเหนียว มีช่องระบายอากาศ สีเหลืองอ่อนกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๑๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลมหรือมน ๒ แฉก แฉกยาว ๑-๕ ซม. ปลายแฉกมักโค้งเข้าหากันเล็กน้อย โคนเว้าลึกรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เกลี้ยง ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขนสั้นสีน้ำตาลแกมเทาตามเส้นใบ และมักมีเกล็ดบาง ๆ สีเทาประปราย เส้นโคนใบ ๑๐-๑๓ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง หูใบอยู่ทางด้านข้างของโคนก้านใบ รูปไข่ โค้งเรียว ยาวประมาณ ๕ มม. ร่วงง่าย ก้านใบยาว ๒-๗-(๑๐) ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ปลายก้านหักทำมุมกับเส้นกลางใบ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งย่อยมีดอกค่อนข้างหนาแน่น ทุกส่วนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป ช่อรวมทั้งก้านช่อยาว ๙-๑๒ ซม. ปลายช่อแผ่กว้างรูปทรงกรวย กว้าง ๖-๘ ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๕ ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับรูปลิ่มแคบ ๆ ยาวประมาณ ๕ มม. และมีใบประดับย่อยลักษณะคล้ายกันที่บริเวณโคนกลีบเลี้ยง ๑-๓ใบ ดอกตูมรูปไข่ รูปกระสวยหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น ปลายสุดเป็นติ่งแหลมฐานดอกรูปหลอดสั้น ยาวประมาณ ๕ มม. มีริ้วเป็นทางตามยาวพอสังเกตเห็นได้ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ โค้งพับลง ๓-๕ แฉก กลีบ ดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีนวล ขนาดต่างกันเล็กน้อย รูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. (รวมก้านกลีบ) ยาว ๒-๒.๕ ซม. โคนกลีบเรียวเป็นก้าน กลีบบางและยับย่น มีขนทางด้านนอก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๕(-๗) เกสร ที่สมบูรณ์ มี ๓ เกสร ยาวประมาณ ๓ ซม. โคนก้านชูอับเรณูมีขนยาวประปราย อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนานแตกตามแนวยาวด้านข้าง มีก้านรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปแถบ โคนและปลายเรียวแหลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นมี ๑ ช่อง ออวุล ๑๒-๑๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ ซม. ส่วนโคนก้านช่วงที่ดิดกับรังไข่มีขน ยอดเกสรเพศเมียแผ่ออกเล็กน้อย

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ หนาและแข็งเหมือนไม้ กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ผิวสีนํ้าตาล เรียบหรือมีปุ่มที่เกิดจากช่องระบายอากาศนูนขึ้นมาประปราย โคนและปลายฝักเรียวหรือเรียวแหลม เมล็ดรูปกลมแบนกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. และหนาประมาณ ๓ มม. มี ๕-๘ เมล็ด สีนํ้าตาลเข้ม

 โคคลานชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบและป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑,๕๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า จีน ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคคลาน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia ornata Kurz var. kerrii (Gagnep.) K. Larsen et S. S. Larsen
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
ornata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. kerrii
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Gagnep.) K. Larsen et S. S. Larsen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กวาวขน, ปอมุ้ง, เลี้ยว, เลี้ยวเครือ (เหนือ); แสลงพันแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย